การดูแลและการปฏิบัติตัวในผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

Last updated: 7 ก.ย. 2565  |  1252 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การดูแลและการปฏิบัติตัวในผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

การดูแลและการปฏิบัติตัวในผู้ป่วยหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

Hip Arthroplasty การผ่าตัดใส่ข้อเทียมบริเวณสะโพก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.       Total Hip Replacement คือ การผ่าตัดทั้งหัวกระดูกฟีเมอร์ และเบ้าสะโพก โดยเอาเฉพาะส่วนกระดูกที่ตายหรือเสื่อมออกไป แล้วแทนที่ด้วยข้อเทียมเป็นชุด ที่ประกอบด้วยเบ้าเทียม และหัวกระดูกฟีเมอร์เทียมที่มีก้านต่อเพื่อเสียบลงในโพรงกระดูก

2.       Hip Hemiarthroplasty คือ การเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเพียงด้านเดียว ซึ่งตัดเฉพาะส่วนหัวของกระดูกฟีเมอร์ออก แล้วใส่ข้อเทียมเฉพาะส่วนที่เป็นหัวกระดูกและก้านเท่านั้น

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงของการรักษา

1.       แผลผ่าตัดมีเลือดออกหรือซึม

2.       ปวดข้อสะโพกมาก มีอาการบวมแดงมาก หรือมีไข้ร่วมด้วย

3.       ต้นขาบวมและปวดมาก

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด
ข้อห้ามและข้อควรระวังหลังการผ่าตัดในระยะแรก

1.       ไม่ก้มตัวลงหยิบของที่พื้นในขณะยืนหรือนั่ง

2.       ควรนั่งเก้าอี้ที่มีเบาะแข็งและควรเลื่อนตัวมาอยู่ขอบเก้าอี้ก่อนลุกขึ้นยืน ควรนั่งเก้าอี้สูง เช่น เก้าอี้บาร์ ไม่นั่งโซฟา

3.       ไม่นั่งไขว่ห้าง

4.       ไม่ใช้ส้วมซึม หากไม่มีต้องใช้เก้าอี้สูงสำหรับวางคร่อมคอห่าน

5.       ไม่ยืนในท่าที่หันปลายเท้าเข้าหาลำตัวและหุบขาเข้า

6.       ให้ระมัดระวังท่าทางหรือการเคลื่อนไหวที่ทำให้ลำตัวและต้นขาทำมุมน้อยกว่ามุมฉาก 90 องศา

7.       ควรนอนหงายหรือนอนตะแคงโดยมีหมอนรองระหว่างขา เพื่อป้องกันไม่ให้มีการหุบขาเข้ามาหากันมากเกินไป ไม่นอนตะแคงทับขาข้างที่ผ่าตัดในช่วง 5 - 7 วันแรกหลังการผ่าตัด

การปฏิบัติตัวเพื่อยืดอายุการใช้งานของข้อสะโพกเทียม

1.       หลีกเลี่ยงการยกของหนัก

2.       หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดที่มากเกินไป

3.       รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป

4.       หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่เร็วเกินไป รวมถึงการหมุนตัวที่รวดเร็ว

5.       หลีกเลี่ยงการงอข้อสะโพกมากๆ เช่น การนั่งเก้าอี้เตี้ย หรือนั่งยองๆ

6.       ระวังการลื่นหกล้ม

7.       ออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อต้นขาเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ

 
ท่าออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อต้นขา
      การออกกำลังกายควรทำท่าละ 10 - 20 ครั้งต่อเซต 2 เซตต่อวัน หลังการออกกำลังกายอาจประคบด้วยความเย็น เพื่อลดอาการปวดที่อาจเกิดขึ้นได้จากการออกกำลังกาย

          ท่าที่ 1  นอนหงาย กางขา - หุบขา เข่าเหยียดตรง (hip abduction-adduction) ท่านี้ช่วยเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกด้านข้าง ทั้งด้านนอกและด้านใน

          ท่าที่ 2  นอนหงาย ยกขาขึ้น เข่าเหยียดตรง (hip flexion with knee extension) ท่านี้ช่วยเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกด้านหน้า

          ท่าที่ 3 นอนหงาย งอข้อสะโพก งอข้อเข่า (hip flexion with knee flexion) ท่านี้ช่วยเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกด้านหน้า และรอบข้อเข่า

          ท่าที่ 4 นอนหงาย กระดกข้อเท้าขึ้น - ลง (ankle dorsiflexion-plantarflexion) ท่านี้ช่วยเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อขาท่อนล่าง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้